![](/.//uploadedfiles/filemanager//source/OECMs00.jpg?1686555791136)
เพื่อนำไปสู่การบรรลุพันธกิจ ปี ค.ศ. 2030 (2030 Mission) ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ การดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ จากการรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP15) เป็นแผนการดำเนินงานเพื่อลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มีเป้าหมายการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่ม HAC กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People โดยมีเป้าหมายในการคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อลดการสูญเสียชนิดพันธุ์และระบบนิเวศ ซึ่งเป็นฐานทรัพยาการ การเร่งหยุดยั้งและลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือเป้าหมายหลัก เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างประโยชน์แก่โลกและมนุษย์ โดยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรม และเท่าเทียม ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่จําเป็นและเหมาะสม
![](/.//uploadedfiles/filemanager//source/OECMs01.jpg?1686555874786)
หากจะบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ซึ่งหมายถึงการเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง (Protected areas) ร้อยละ 30 บนบก และแหล่งน้ำในแผ่นดิน และพื้นที่ร้อยละ 30 ของทะเลและชายฝั่ง ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่ม OECMs (Other Effective Area-Based Conservation Mearsures: มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ) รวมถึงเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่าสำหรับการปกป้องระบบนิเวศบกและแหล่งน้ำในแผ่นดิน และเพิ่มความพยายามเป็น 4 เท่า สำหรับการปกป้องพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง
ภายในงาน “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” กิจกรรมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและพูดคุยกัน ภายใต้หัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย” ระหว่าง 4 มุมมองจากตัวแทนหน่วยงาน เพื่อการพัฒนา OECMS ไปสู่เป้าหมาย
01 มุมมององค์กรระหว่างประเทศ: OECMs เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
นายประทีป มีคติธรรม
Project Officer Protected Area Programme
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
- ประเภทของพื้นที่ OECMs จำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก
- พื้นที่อนุรักษ์หลัก (Primary Conservation) พื้นที่ซึ่งมีความสําคัญ และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองตามเกณฑ์ของ IUCN ในอนาคต เช่น พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น
- พื้นที่อนุรักษ์รอง (Secondary Conservation) พื้นที่ซึ่งกําหนดให้ การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นวัตถุประสงค์รอง เช่น ป่าชุมชน เขตพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งจัดการโดยชุมชนท้องถิ่น เขตเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม
- พื้นที่อนุรักษ์เสริม (Ancillary Conservation) พื้นที่ซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแต่มีการดําเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์หรือการบริหารจัดการ/เกณฑ์ก่อให้เกิดผลด้านการอนุรักษ์ เช่น เขตปลอดภัยทางทหาร, เขตปลอดภัยแท่นขุดเจาะน้ํามัน, พื้นที่กันชนโรงงานอุตสาหกรรม
- การพัฒนาพื้นที่เป้าหมายสำคัญของ OECMs คือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- เป็นพื้นที่ Key Biodiversity Area (KBA)
- เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์
- บัญชี IUCN Red List
- บัญชี Thailand Red List
- ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น
- มีพื้นที่ใหญ่เพียงพอสําหรับเป็นถิ่นอาศัยและแหล่งรวม ชนิดพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ
- เป็นพื้นที่ที่มีความสําคัญเชิงระบบนิเวศ เช่น เป็นพื้นที่เชื่อมต่อทางระบบนิเวศของสัตว์ป่า เป็นพื้นที่รองรับการ อพยพของนกชายฝั่งและแหล่งผสมพันธุ์ วางไข่ตามฤดูกาล
- มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- พื้นที่ที่มีศักยภาพเป็น OECMs
- พื้นที่เตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครอง (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, อุทยานแห่งชาติ, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า) รวมพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติและพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ 70,046.25 ตารางกิโลเมตร (อ้างอิงข้อมูลปี 2560)
- พื้นที่ป่าชุมชน ที่ร่วมกับกรมป่าไม้ หากนับขนาดพื้นที่ป่าชุมชุนที่มีเนื้อที่มากกว่า 5,000 ไร่ จะมีจํานวนป่าชุมชนถึง 99 แห่ง และมีเนื้อที่ 1,108,600 ไร่
- พื้นที่วนอุทยาน พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช)
- การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชนในการสนับสนุนพื้นที่ OECMs ภายใต้กรอบ 30x30
- พื้นที่ Green belt หรือ Buffer ที่มีขนาดใหญ่พอ ซึ่งเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถรองรับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่โรงงาน เช่น การจัด landscape การเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสําหรับสิ่งมีชีวิต
- พื้นที่ฟื้นฟูเหมืองแร่เก่า โดยใช้แนวคิด Nature Based Solution (NbS)
- พื้นที่ปล่อยทิ้งร้าง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งชีวิตชนิดต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ตามธรรมชาติ หรือบริหาร จัดการในรูปแบบ Private Protected Area (PPA)
- พื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งปรับปรุงระบบการทําการเกษตรให้เอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยใช้แนวคิด Agriculture landscape management, Agriculture and biodiversity เป็นต้น
- ตัวอย่างพื้นที่ศักยภาพ ได้แก่ พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายสิรินาถราชินี และพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทย
- ข้อเสนอแนวทาง OECMs ในประเทศไทย
- การกําหนดขอบเขตประเภทพื้นที่คุ้มครองในบริบทของประเทศไทยให้ชัดเจน
- พัฒนาหลักเกณฑ์หลักและหลักเกณฑ์ย่อยเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจําแนกประเภทของ OECMsในบริบทของประเทศไทย
- สนับสนุนการศึกษา รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพใน รูปแบบ OECMs ในประเทศไทย
- พัฒนานโยบาย กฎ ระเบียบ หรือแนวทางในการสนับสนุน ส่งเสริม และรับรองการจัดการความหลากหลายทาง ชีวภาพในรูปแบบ OECMs (เช่น มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)
- พัฒนายุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน สนับสนุน และส่งเสริมการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบ OECMs
- พัฒนามาตรการสร้างแรงจูงใจในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากที่ดินนั้นถูกนํามาจัดการเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในรูแบบ OECMs
- พัฒนาระบบในการจดแจ้ง ขึ้นทะเบียนพื้นที่ OECMs ผ่าน online platform รวมทั้งพัฒนาระบบในการติดตาม ประเมินผลในรูปแบบการประเมิน/รับรองตนเอง และการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ
- พัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล (Monitoring and Evaluation) ในภาพรวมของประเทศ
![](/.//uploadedfiles/filemanager//source/OECMs02.jpg?1686556270401)
02 มุมมองทางบก: ความท้าทายในการจัดการพื้นที่ OECMs ระยะยาว
นายวรดลต์ แจ่มจํารูญ
รักษาการในตําแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช
สํานักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ควรบัญญัติศัพท์ภาษาไทยเพื่อเรียกคำว่า OECMs เช่น “พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพในถิ่นประเภทอื่นไม่ใช่พื้นที่คุ้มครอง” และให้คำจำกัดความว่า “เป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครองได้รับการบริหารจัดการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการบริการของระบบนิเวศและคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ”
- ปัจจุบันภารกิจของกรมอุทยานฯ ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย 30 x 30 คือการประกาศพื้นที่ทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่เรียกว่าพื้นที่เตรียมการประมาณ 23 แห่ง เป็นบริเวณเกือบ 4 ล้านไร่ พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประมาณ 6 แห่งแสนกว่าไร่ พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นส่วนรุกขชาตินะซึ่งมีแห่งเดียวก็คือพื้นที่ปางเปิด สันทรายบางเบิดที่ได้มีการเสนอขึ้นไปว่าจะขอประกาศเป็นเขตสวนรุกขชาติ พื้นที่คุ้มครองอยู่ในเกณฑ์ 24% กว่าๆของประเทศ เป้าหมายที่จะครบ 25% ก็มีความเป็นไปได้ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการประกาศ
- ในภาคบกของประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสามารถเข้าเกณฑ์พิจารณาเป็น OECMs ในหลากหลายกลุ่ม เป็นพื้นอนุรักษ์ประเภทหนึ่ง ในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษค หลากหลาย ทางบกและทะเล
- ข้อจำกัดที่เสี่ยงต่อการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมในประเทศไทย คือ พื้นที่มีลักษณะเป็นกลุ่มป่า ซึ่ง OECMs เป็นเครื่องมือที่เป็นจุดเชื่อม (corridor) มีลักษณะเป็นก้อนหินกระโดดข้าม (stepping stone) ระหว่างพื้นที่คุ้มครองต่างๆ เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพ
- ในประเทศไทยยังมี Key Biodiversity Areas (KBA) ซึ่งไม่ได้จัดอยู่ในพื้นที่ถูกคุ้มครองแต่มีศักยภาพที่สามารถถูกเลือกเป็น OECMs ระดับต้นๆ เช่น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ที่อยู่ในการดูแลขององค์การท้องถิ่น และยังมีพื้นที่ที่ไม่มีการคุ้มครอง ตัวอย่างเช่น คลองนาคา แหล่งพลับพลึงธาร พื้นที่พรุจำปา โครงการอนุรักษ์จำปีสิรินธร จังหวัดลพบุรี
- พื้นที่ศักยภาพอื่นๆ ที่สามารถผลักดันสู่พื้นที่ OECMs ยังสามารถพิจารณาพื้นที่ต่อไปนี้ ได้แก่ พื้นที่วัดป่า ป่านันทนาการ ป่าในเมือง(Urban forest) เช่น คุ้งบางกระเจ้า, โครงการตามพระราชดำริของกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน ป่าสงวน พื้นที่ราชพัสดุ เช่น โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริ ดูแลพื้นที่โดยกองทัพบก, พื้นที่ปกปักทรัพยากรอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท, พื้นที่เอกชน เช่น โครงการฟอเรสเทีย พื้นที่สีเขียวโตโยต้า
- การพิจารณาพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งมีลักษณะตรงเกณฑ์ in-situ ได้แก่การมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาวัฒนธรรมและประเพณีมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมาย 30 x 30
- ประเทศไทยนับว่ามีความพร้อม แต่ยังมีความท้าทายในการจัดการพื้นที่ OECMs ในระยะยาว
- การมีหน่วยงานการติดตาม พัฒนา ประเมินประสิทธิภาพในการจัดการ
- การจัดหาทุนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่
- การสร้างการตระหนักรู้ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และชุมชน
![](/.//uploadedfiles/filemanager//source/OECMs03.jpg?1686556372124)
03 มุมมองทางทะเลและชายฝั่ง: ผลักดันกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 30 x 30
นางสาวชนกพร จันทรขันตี
นักวิชาการประมงชํานาญการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- สถานะพื้นที่ของประเทศไทยในการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของพื้นที่ทางทะเลไทย และมีแผนประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของหน่วยงานต่างๆ เช่น พื้นที่เตรียมการทะเลและชายฝั่ง พื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติทางทะเล พื้นที่เตรียมการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่เตรียมการพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ได้รับการประกาศแล้วจะมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเล คิดเป็นร้อยละ 9.37 (29,129 ตารางกิโลเมตร) ของพื้นที่ทางทะเลของไทย
- พื้นที่มาตรการคุ้มครองอื่นๆ ที่สามารถเข้าพิจารณาตามเกณฑ์ OECMs และตัวอย่างพื้นที่ในประเทศไทยที่มีแนวคิดนำมาผนวกเป็น OECMs ได้ เช่น
- พื้นที่แหล่งโบราณคดีใต้น้ำที่มีการให้ความคุ้มครองทางวัฒนธรรม เช่น ซากเรือจม ประภาคารและสะพานท่าเรือ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
- เขตปลอดภัยในราชการทหาร แห่งกองทัพเรือในท้องที่อ. บ้านค่าย อ.บ้านฉาง อ.เมืองระยอง จังหวัดระยอง และอ.บางละมุง อ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- พื้นที่ทางทะเลที่มีการจัดการโดยชุมชนชายฝั่งท้องถิ่น (LMMA: A locally managed marine area) ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมของชุมชน อาทิ กลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้าน อ่าวท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ จ. นครศรีธรรมราช ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกาะยาวน้อย จ.พังงา ฯลฯ เป็นพื้นที่ที่สามารถผลักดันให้เข้ากับเกณฑ์การเป็น LMMAs โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 16 ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
- ตัวอย่างพื้นที่ที่ยังมีประเด็นติดขัดกับหลักเกณฑ์ OECMs หรือข้อบ่งชี้การเกื้อหนุนต่อผลสัมฤทธิ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีนัยสําคัญ อาทิ เขตปลอดภัยของสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล นับพื้นที่ 500 เมตรรัศมีจากขอบฐานแท่น ซึ่งสามารถได้รับการคุ้มครองทรัพยากรในกรณีที่สามารถตรวจสอบได้ว่ากิจกรรมทางอุตสาหกรรมไม่มีผลกระทบหรือทำลายต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้องอาศัยการสำรวจสภาพระบบนิเวศและตรวจสอบรายงานผลกระทบก่อนนับเป็นพื้นที่ OECMs, พื้นที่ภายใต้การดำเนินการฟื้นฟู (Active restoration of coral reefs/ Installation of artificial reefs)
- ทิศทางการดําเนินงานของประเทศไทยเกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)
- ควรมุ่งเน้นที่มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ (OECMs) ซึ่งจะมี รูปแบบที่หลากหลาย ยืดหยุ่น/อ่อนตัวกว่า หรือไม่เป็นทางการ นอกเหนือจากการ ประกาศกําหนดพื้นที่คุ้มครองแบบปกติ
- ควรประมวลและประเมินสถานะของพื้นที่ที่มีรูปแบบการบริหารจัดการที่เข้าข่ายการเป็นหรือมีศักยภาพที่จะเป็น OECMs
- ในอนาคตจําเป็นต้องเร่งรัดการดําเนินการผลักดันพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เป็น OECMS
- เพื่อให้มีทิศทางและเป็นกลยุทธ์เชิงรุก ประเทศไทยควรมีการพัฒนา Roadmap เพื่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 30 x 30
![](/.//uploadedfiles/filemanager//source/OECMs04.jpg?1686556424492)
04 มุมมองภาคประชาสังคม: OECMs โอกาสการลงทุนจากภาคเอกชน
นายเพชร มโนปวิตร
นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษาเครือข่าย ๓๐ x ๓๐ ประเทศไทย
- จาก SDGs 17 เป้าหมาย มี 4 เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ Biosphere สะท้อนการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ (area based conservation) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจตามลำดับ
- OECMs ไม่ควรจะเป็นพื้นที่ที่กระจัดกระจาย ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็น Protection area มีลักษณะเป็นหย่อม ลักษณะเหมือนเกาะที่ถูกตัดขาด ดังนั้นความพยายามในการเชื่อมพื้นที่อนุรักษ์ตามแนวคิดแบบ corridor จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นแนวทางหลักสำคัญอันหนึ่งในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
- พื้นที่ที่ไม่มีความสําคัญในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ สวนป่า พื้นที่ขนาดเล็กที่ขาดการจัดการ พื้นที่คุ้มครองชั่วคราว เช่น การปิดอ่าวเฉพาะฤดูกาลเพื่อให้ปลาทะเลได้วางไข่ ไม่นับเป็นพื้นที่ศักยภาพ OECMs
- ในขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 หลายพื้นที่ที่ได้ประกาศมา ซึ่งหากเราควรใส่ใจดำเนินการจัดการอย่างจริงจัง มีแผนการอนุรักษ์อย่างเข้มข้น เพื่อประสิทธิภาพการจัดการและผลลัพธ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนรวมถึงบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- การเพิ่มปริมาณเป้าหมายอย่างก้าวกระโดดเป็นร้อยละ 30 ทำให้มีการจัดการอย่างไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นปัญหาจากการขาดคน แหล่งทุน อุปกรณ์ ซึ่งส่งผลต่อการให้ผลเชิงการอนุรักษ์ของพื้นที่ OECMs นับเป็นโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การพัฒนาระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล Development of Marine SMART system รวมถึงระบบ METT Management Effectiveness Tracking Tool เครื่องมือการประเมินประสิทธิภาพ การจัดการพื้นที่คุ้มครอง ที่ควรถูกบรรจุอยู่ในการบริหารจัดการ OECMs
- ทุกประเทศไม่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมาย 30 บางประเทศอาจมากกว่าหรือบางประเทศอาจน้อยกว่าได้ หากเรามีหลักเกณฑ์ชัดเจนในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
- งานวิจัยระยะยาวของ Wildlife Conservation Society (WCS) แอฟริกา พบว่าหากเก็บพื้นที่อนุรักษ์ไว้ 30% โดยปราศจากการทำประมง ชุมชนยังมีศักยภาพในการสร้างผลผลิตการประมงได้ ซึ่งสามารถเป็นตัวข้อมูลในการสื่อสารกับประมงชุมชนในการพัฒนาพื้นที่สู่ OECMs
- นกเป็นตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ช่วยให้เกิดการวางแผนการอนุรักษ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพิ่ม “พื้นที่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์” สามารถกําหนดมาตรการฟื้นฟูและอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามได้อย่างมีเป้าหมาย นําไปสู่การดูแลระบบนิเวศเพื่อการใช้ระโยชน์อย่างยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง รวมไปถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
บทสรุป:
มาตรการอนุรักษ์ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ในแหล่งกำเนิด (OECMs) ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสและศักยภาพในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ทั้งยังช่วยยกระดับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้มั่นใจได้ถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ในแหล่งกำเนิดสำหรับรุ่นต่อๆ ไป หากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน องค์กรและประชาชนทั่วไป หันมาสนใจกันคนละนิดก็สามารถร่วมกันเป็นพลังให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เรื่องของโลกเราทำคนเดียวทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันทำจากทุกคนและต้องเริ่มทำเดี๋ยวนี้