Innovation
ตามปรัชญาของบริษัท Fitting Function Fashion นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนของWacoal เน้นคัดเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้วัสดุเหล่านี้มีคุณภาพที่เทียบเท่ากัน ไทยวาโก้จัดหาเส้นใยสิ่งทอที่ช่วยลดการใช้ผ้าฝ้ายบริสุทธิ์ เช่น โพลีเอสเตอร์ (จากขวด PET รีไซเคิล) ผ้าไนลอนรีไซเคิล (จากอวนจับปลาที่ใช้แล้ว) โฟมจากธรรมชาติ (มีส่วนผสมของโพลิออลน้ำมันปาล์ม 10%) และน้ำยาง (ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติแทนลวดในเสื้อชั้นใน) ในด้านการผลิตและการกระจายสินค้า บริษัทเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน หยุดใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในโรงงานย้อมผ้า ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่คิดเป็น 30% ของระบบไฟฟ้า เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล 100% และนำกลับมาใช้ซ้ำ รวมถึงใช้ LPG ในระบบโลจิสติกส์และใช้ดีเซล B7 ในเครื่องอบไอน้ำ
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังถูกออกแบบให้ไม่มีตะขอหรือสาย เพื่อช่วยลดความหลากหลายของวัสดุ ง่ายต่อการจัดการเมื่อหมดอายุการใช้งาน Wacoal ยังให้คำแนะนำในการดูแลผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยตั้งเป้าให้สินค้าใช้งานได้ 100 ครั้งภายใน 2 ปีหลังการซื้อ ด้วยการซักด้วยมือ ไม่ใช้น้ำยาฟอกขาว ไม่บิดแห้ง และตากแห้งในที่ร่ม Wacoal ยังมีบริการซ่อมเสื้อชั้นในเพื่อยืดอายุการใช้งาน ซึ่งมีผู้มาใช้บริการ 1,592 ครั้งในปี 2021และ 2,004 ครั้งในปี 2022 สำหรับเสื้อชั้นในที่หมดอายุการใช้งานจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน (waste to energy) ทาง Wacoal นำไปส่งต่อให้โรงงานที่ผลิตและใช้เชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) โดยเริ่มต้นจากประมาณ 500 กิโลกรัมในปี 2012 เพิ่มขึ้นเป็น 20,120 กิโลกรัมในปี 2023 และมียอดรวมถึง 92,186 กิโลกรัมในช่วงตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ประชาชนสามารถนำชุดชั้นในเก่ามาทิ้งในถังในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กับแคมเปญประจำปี Braday และมีบริการส่งฟรีทางไปรษณีย์
Circular Economy Impact
นวัตกรรมของไทยวาโก้ได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเปลี่ยนมาใช้วัสดุทางเลือกที่สามารถหมุนเวียนได้ การใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์และไนลอนที่รีไซเคิลจากเสื้อชั้นในเก่าช่วยลดการฝังกลบหรือเผาขยะ ลดการใช้วัสดุมือหนึ่ง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิต จากความสำเร็จของผ่านโครงการ Braday บริษัทสนับสนุนการคัดแยกเสื้อชั้นในที่หมดอายุการใช้งานกว่า 20 ตันต่อปี และช่วยจัดการขยะเหล่านี้อย่างเหมาะสม
นวัตกรรมของบริษัทยังช่วยปรับปรุงการใช้วัสดุ พลังงาน และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดบริษัทเพิ่มการกล่องใช้ซ้ำในระบบกระจายสินค้าถึง 67% ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ปี 2023 ลดการใช้กล่องกระดาษแบบใช้ครั้งเดียวลงคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ถึง 256,000 บาทต่อเดือน สำหรับคำแนะนำในการดูแลผลิตภัณฑ์ของบริษัทช่วยยืดอายุการใช้งานของเสื้อชั้นในได้นานถึง 100 ครั้งใน 2 ปี ซึ่งช่วยลดขยะจากเสื้อชั้นในที่หมดอายุการใช้งาน รวมถึงลดการใช้พลังงานและน้ำในระหว่างการใช้งานและซักล้าง
Business and Market Impact
วัสดุจากผ้ารีไซเคิลมีต้นทุนสูงกว่าผ้าแบบไม่รีไซเคิลประมาณ 20-30% แต่บริษัทสามารถผลิตในจำนวนมากที่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ Wacoal สำนักงานใหญ่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นโมเดลการผลิตชุดชั้นในตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และมีแผนจะผลิตชุดชั้นในเหล่านี้ในฐานะผู้ผลิต OEM สำหรับตลาดอื่นๆ เช่น อินเดีย ไทยวาโก้กำลังดำเนินการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 50% พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงและน้ำ รวมถึงเพิ่มการรีไซเคิลขวด PET เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
นอกจากนี้ บริษัทมุ่งใช้วัตถุดิบตามเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้ถึง 30% ของยอดขายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในประเทศไทย และอยากสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมผ่านกิจกรรม Braday ประจำปี ให้ผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลชุดชั้นใน โดยหวังว่าจะทำให้บริษัทคู่แข่งหันมาใส่ใจเรื่องการจัดการชุดชั้นในเก่าด้วยเช่นกัน
Stakeholders
Wacoal ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น อย่างการใช้ PET รีไซเคิลคุณภาพสูงจาก Indorama Polyester และจัดหาไนลอนรีไซเคิลจาก Nyl-One ซึ่งผลิตจากอวนจับปลาที่ถูกทิ้ง มีความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP) ทำหน้าที่เป็นโรงงานคัดแยกขยะสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่หมดอายุการใช้งานโดยเปลี่ยนชุดชั้นในที่หมดอายุเป็นเชื้อเพลิง RDF
บริษัทยังส่งเสริมให้ชุมชนใกล้เคียงโรงงานผลิตรวบรวมขยะพลาสติกจากครัวเรือนโดยเฉลี่ย 3 เมตริกตันต่อเดือน ซึ่งบริษัทอำนวยความสะดวกส่งต่อไปใช้ผลิตพลังงาน ระหว่างเดือนเมษายนปี 2021 ถึงเดือนเมษายนปี 2023 ไทยวาโก้รวบรวมขยะจากชุมชนภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงานด้วยการรับซื้อขยะรีไซเคิล ขยะประมาณ 36 ตัน (ส่วนใหญ่เป็นขวด PET ถูกส่งต่อให้โรงงานรีไซเคิล) สร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนรวมเป็นเงิน382,193 บาท
Implementation
ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐ บริษัทไม่ประสบปัญหาทางเทคนิคในการจัดตั้งกระบวนการผลิตร่วมกับห่วงโซ่อุปทานใหม่ ไม่มีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ทักษะ หรือกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับวัสดุเศรษฐกิจหมุนเวียน (วัสดุรีไซเคิล) และวัสดุชีวภาพ (ลาเท็กซ์และอีโคโฟม) เนื่องจากวัสดุใหม่เหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับวัสดุที่ถูกทดแทน อย่างไรก็ตาม ปริมาณผ้ารีไซเคิลคุณภาพสูงในประเทศไทยยังมีค่อนข้างจำกัดและราคาสูง
ผลิตภัณฑ์ตามเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้คอลเลคชั่น ‘Wacoal Love Earth’ ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค และแคมเปญ Braday สำหรับการจัดการสินค้าที่หมดอายุการใช้งาน ยังก่อให้เกิดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในสังคม จากบทเรียนของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไทยวาโก้แนะนำว่ารัฐควรกำหนดและจัดทำมาตรฐานสำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม (eco-labels) ที่ระบุชัดเจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเพิ่มความตระหนักในหมู่ผู้บริโภคและช่วยให้ขยายตลาดได้ การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ตลอดกระบวนทำงาน ยังเป็นประโยชน์ต่อการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในฐานะบริษัทมหาชนอีกด้วย
--------
Acknowledgements
กรณีศึกษาทางธุรกิจนี้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบโครงการ Technical Advisory project: Mobilising Business Action for Circular Economy in the ASEAN countries ภายใต้โครงการสนับสนุนนโยบาย EU SWITCH-Asia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์ประสบการณ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน กรณีศึกษานี้ผลิตโดย ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทย ตรวจสอบโดย Rene Van Berkel และ Thomas Thomas ผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค อ้างอิงข้อมูลที่จัดทำและผ่านการรับรองโดยบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)
Disclaimer
เนื้อหาของบทความนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และทีมผู้เชี่ยวชาญ บทความนี้ไม่ถือเป็นการรับรองหรือสะท้อนมุมมองต่อบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) โดยสหภาพยุโรปหรือพันธมิตรของโครงการสนับสนุนนโยบาย SWITCH-Asia
ลิขสิทธิ์: © 2024 SWITCH-Asia