ในปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจนั้นไม่ใช่แค่การเติบโตไปเพียงคนเดียวเพราะหากต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน ทุกคนจะต้องสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งนำมาสู่โมเดลธุรกิจ “inclusive business” ที่มีแนวคิด “ไปด้วยกันไปได้ไกล” ด้วยเหตุผลที่บริษัทใหญ่ๆ นั้นย่อมมีทรัพยากรที่มากกว่า ฉะนั้นบริษัทเหล่านี้จึงต้องยื่นมือเข้าไปช่วย เหล่า start up หรือ SME ให้เดินต่อไปได้ด้วยกันอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมเช่นนี้ไม่ได้จำกัดแค่บริษัทต่างๆ เท่านั้นแต่รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) รวมพลังกับสมาชิกกว่า 141 องค์กร พร้อมภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืน ร่วมกับองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย ได้มีการจัดงานประชุม GCNT Forum 2024 : Inclusive Business for Equitable Society” พลิกธุรกิจแห่งอนาคต สร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567
การสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและซับซ้อนอย่างมาก โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ได้กล่าวว่า “ความเสมอภาคเท่าเทียม” สามารถผลักดันได้ด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยสำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้
- ปัจจัยแรกนั้นสอดคล้องกับเป้าหมาย SDG ที่สี่ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา หรือรากฐานการเริ่มต้นชีวิตที่สำคัญและเป็นการลงทุนระยะยาวชนิดหนึ่ง โดยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องมีเด็กเป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้หาแนวทางการเรียนรู้ด้วยตนเอง เนื่องจากความมั่นคงที่แท้จริงนั้นต้องมีรากฐานจากการถูกปลูกฝังความคิดตั้งแต่วัยเยาว์ ดังนั้น นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพควรที่จะสอดแทรกการปลูกฝังทักษะชีวิตและทัศนคติที่ดีอีกด้วย ดังนั้นการสร้างบุคลากรในอนาคตให้มีคุณภาพที่ดีนั้นควรปลูกฝังให้ มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงและความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคม
- ปัจจัยที่สอง ได้แก่เทคโนโลยีและความเชื่อมโยงทางด้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการสร้างสังคมเมืองที่ยั่งยืนไปอีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ ทรัพยากร และข้อมูลที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนสังคม รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ และ ยังมีส่วนช่วยสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการสร้างอาชีพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน
- ปัจจัยที่สามได้แก่การเข้าถึงแหล่งทุนและแหล่งการเงินที่เป็นธรรม คุณศุภชัยกล่าวไว้ว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้เข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือ SMEs ที่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อลดการกู้ยืมนอกระบบ ฉะนั้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้คนให้ไปสู่ความฝันของตนเอง และสร้างโอกาสใหม่ๆ
- ปัจจัยที่สี่ได้แก่ประกันพื้นฐาน หากประชาชนมีร่างกายที่แข็งแรงและมีงานทำ เราสามารถใช้ความขยันหมั่นเพียรในการสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ แต่ในทางกลับกันหากพวกเขาประสบอุบัติเหตุหรือสูญเสียความสามารถในการทำงาน เราจำเป็นต้องมีระบบประกันสังคมที่จะช่วยให้เราไม่ขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบประกันพื้นฐาน ให้เข้าถึงครอบคลุมประชากรทุกคน
หากเราสามารถทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้ จะทำให้เรามีสังคมที่เกิดความเท่าเทียม ซึ่งจะนำมาสู่ความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตามกุญแจหลักแห่งความสำเร็จที่สำคัญมากๆ ก็คือความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทต่างๆ กับรัฐบาล ระหว่างภาคส่วนหรือกับผู้บริโภค ทุกฝ่ายล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและทำให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ในครั้งนี้
:: เก็บประเด็นและรายงานข่าว โดย SDGs Young Creator ทีม Plays ::